วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จังหวัดชุมพร ( Chumphon Province )


   จังหวัดชุมพรเป็นเมืองที่เก่าแก่และมีความเป็นมาที่ยาวนาน ชุมพรเป็นประตูด่านแรกที่จะเข้าสู่ภาคใต้ มีหาดทรายทอดตัวยาวถึง 222 กิโลเมตร มีเกาะกว่า 30 เกาะ ความสวยงามของท้องทะเลสีคราม ความร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แนวปะการัง ดอกไม้ทะเล และฝูงปลาหลากชนิด ทำให้ชุมพรเหมาะแก่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวยุคใหม่
   นอกจากนั้นชุมพรยังเป็นเมืองผลไม้ที่มีผลไม้ขึ้นชื่อหลายชนิด และช่วงฤดูกาลผลไม้เดือนกรกฎาคม - เดือนสิงหาคม ไม่ว่าจะเป็นกล้วยเล็บมือ ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด เป็นต้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งการท่องเที่ยวลักษณะนี้เป็นการท่องเที่ยวที่สามารถเข้าไปสัมผัสถึงชีวิตของชาวสวน กิจกรรมภายในสวน รวมถึงอิ่มอร่อยไปกับผลไม้ นักท่องเที่ยวจะได้รับความเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติที่สวยงามของป่า เทือกเขาหินปูน ตลอดสองข้างทางจะรายล้อมไปด้วยไปด้วยสวนผลไม้ตลอดทาง บรรยากาศเต็มไปด้วยต้นไม้ ร่มรื่น เขียวชอุ่ม นอกจากนี้จังหวัดชุมพรยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดชุมพร


   จังหวัดชุมพร เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งตั้งขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่จากหลักฐานในกฎหมายตราสามดวงในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (สมัยกรุงศรีอยุธยา) สันนิษฐานได้ว่า ชุมพรมีอายุตราบจนถึงปัจจุบันกว่า 600 ปีแล้ว โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเรียบเรียงความเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งเมืองชุมพรไว้ในตำนานเมืองระนองความตอนหนึ่งว่า “เมืองชุมพรประหลาดผิดจากเมืองอื่นๆ” ในแหลมมาลายูที่ตั้งมาแต่โบราณ เช่น เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น ล้วนมีโบราณสถาน โบราณวัตถุปรากฏให้เห็นรู้ได้ว่าเป็นเมืองโบราณ แต่เมืองชุมพรไม่พบโบราณสถานและโบราณวัตถุแต่อย่างใด อาจจะเป็นด้วยเหตุ 2 ประการ คือ มีพื้นที่นาไม่พอกับคน 
     ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งตั้งอยู่ตรง คอคอดแหลมมาลายู ซึ่งมักเป็นสมรภูมิรบพุ่งกันตรงนี้ จึงไม่สามารรถสร้างเมืองถาวรไว้ แต่ต้องรักษาไว้เป็นเมือง “หน้าด่าน” สำหรับชื่อ “เมืองชุมพร” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ชุมนุมพล” เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่าน การเดินทัพไม่ว่าจะมาจากฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้ เข้ามาตั้งค่ายชุมนุมกันที่นี่จึงเรียก จุดนี้ว่า “ชุมนุมพล” แต่ด้วยเหตุที่คนใต้ชอบพูดคำสั้น ๆ จึงตัดคำกลางออกเหลือเพียง “ชุมพล” และต่อมาเพี้ยนเป็น “ชุมพร”
   อีกประการหนึ่งในการเดินทางไปรบทัพจับศึกของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ได้รับชัยชนะในการสู้รบเป็นการบำรุงขวัญทหารในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้ ตรงกับความหมาย “ชุมนุมพร” หรือ “ประชุมพร” ซึ่งสองคำนี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า "ชุมพร" เช่นเดียวกัน แต่อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้มาจากชื่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในท้องถิ่นเช่นเดียวกับชื่อท้องที่ทั่ว ๆ ไป เพราะที่ตั้งเมืองเดิมบนฝั่งท่าน้ำชุมพรมีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นอยู่มากมาย ต้นมะเดื่อชุมพรจึงเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองอยู่ในตราจังหวัดจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลประจำจังหวัด

ตราสัญลักษณ์จังหวัดชุมพร 


ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 
1. ภาพคนยืน หมายถึง เทวดาที่ประทานพรให้แก่ชาวเมือง และกองทัพที่จะยกออกไปทำศึก 
2. ภาพต้นไม้ทั้งสองข้าง หมายถึง ต้นมะเดื่อ ซึ่งในพื้นที่ของจังหวัดมีต้นไม้ชนิดนี้อยู่มากมาย 
3. ภาพค่ายและหอรบ หมายถึง จังหวัดนี้เคยเป็นที่ชุมนุมของบรรดานักรบทั้งหลาย ซึ่งนัดให้มาพร้อมกัน ณ ที่แห่งนี้ ก่อนที่จะเดินทัพออกไปสู้รบกับข้าศึก เพราะว่าในสมัยโบราณชุมพรนั้นเป็นเมืองหน้าด่าน 

ธงประจำจังหวัดชุมพร 





ดอกไม้ประจำจังหวัด 


ชื่อทั่วไป : ดอกพุทธรักษา 
ชื่อสามัญ : Butsarana 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canna indica Linn. 
ชื่อวงศ์ : Cannaceae 
ชื่ออื่น : พุทธศร บัวละวงศ์ 
ถิ่นกำเนิด : ประเทศอินเดีย 
ลักษณะทั่วไป : พรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นสูงประมาณ 1- 2 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า เจริญเติบโตโดยแตกหน่อเป็นกอ คล้ายกล้วย ใบมีขนาดใหญ่สีเขียว โคนใบและปลายใบรีแหลมขอบใบเรียบ กลางใบเป็นเส้นนูนเห็นชัด ใบมีก้านยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกันออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้นช่อดอกเป็น ช่อดอกยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอก 8 - 10 ดอก และมีกลีบบางนิ่ม ขนาดของและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์ 
การขยายพันธุ์ : การเพาะเมล็ด การแตกหน่อ 
สภาพที่เหมาะสม : ดินร่วนซุย แสงแดดจัดกลางแจ้ง 

ต้นไม้ประจำจังหวัด 


ชื่อทั่วไป : ต้นมะเดื่ออุทุมพร 
ชื่อสามัญ : Cluster Fig 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus racemosa Linn. 
ชื่อวงศ์ : LAURACEAE 
ชื่ออื่น : มะเดื่อ มะเดื่อชุมพร กูแซ เดื่อเกลี้ยง เดื่อน้ำ 
ถิ่นกำเนิด : ถิ่นกำเนิดในศรีลังกา จีนตอนใต้ เอเชียใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ 
ลักษณะทั่วไป : ไม้ต้นผลัดใบสูง 5 - 20 เมตร กิ่งอ่อน มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมบางๆ ต่อมาจะหลุดร่วง ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับแผ่นใบรูปไข่ถึงรูปหอกปลายใบแหลโคนใบทู่ถึงกลมก้านใบยาว10.5 เซนติเมตร ดอกเล็กออกเป็นกระจุกผลรูปไข่กลับ เมื่อสุกสีแดงเข้มถึงสีม่วง 
การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ดในถุงเพาะกล้าจนงอกและแข็งแรงก่อนจึงย้ายไปปลูก ลงดิน และปักชำกิ่ง 
สภาพที่เหมาะสม : ดินร่วน และมีอินทรีย์วัตถุ ระบายน้ำได้ดี



คำขวัญประจำจังหวัดชุมพร

ชุมพรประตูภาคใต้
ไหว้เสด็จในกรม 
ชมไร่กาแฟ  
แลหาดทรายรี
ดีกล้วยเล็บมือ
ขึ้นชื่อรังนก





ข้อมูลทางภูมิศาสตร์

ที่ตั้งและอาณาเขต 



   จังหวัดชุมพรตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย บนแหลมมลายูบริเวณคอคอดกระ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ระยะทางประมาณ 463 กิโลเมตร และทางรถไฟสายใต้ประมาณ 485 กิโลเมตร มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร กว้างโดยเฉลี่ยประมาณ 36 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอำเภอปะทิว อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน และอำเภอละแม จดอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอำเภอท่าแซะติดต่อกับอำเภอกระบุรี จังหวัดระนองและ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ เขตอำเภอเมือง อำเภอสวี อำเภอหลังสวน และอำเภอพะโต๊ะ ติดต่อกับอำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

การปกครอง
   จังหวัดชุมพรแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่
อำเภอเมืองชุมพร 
อำเภอสวี
อำเภอท่าแซะ 
อำเภอพะโต๊ะ
อำเภอปะทิว 
อำเภอละแม
อำเภอหลังสวน 
อำเภอทุ่งตะโก
อำเภอละแม

สภาพภูมิประเทศ


   จังหวัดชุมพรมีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพื้นที่ยาวและแคบ ความกว้างของจังหวัดโดยเฉลี่ย 36 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ของจังหวัด ชุมพร แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

1. ทางด้านตะวันตกของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่สูง มีเทือกเขาตะนาวศรี และเทือกเขาภูเก็ต เป็นแนวกั้น เขตแดนธรรมชาติ ประกอบด้วย ภูเขา และป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัด ชุมพร เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลจากทางทิศตะวันตกออกสู่ทะเลทางทิศตะวันออก เป็นแม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำละแม เป็นต้น

2. บริเวณตอนกลางของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่นและที่ราบลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะสำหรับเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด มีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่จังหวัด

3. ทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบไปตามแนวชายฝั่งทะเล อ่าวไทย ลักษณะชายหาดค่อนข้างเรียบ มีความโค้งเว้าน้อย หาดทรายกว้างและมีความลาดชันน้อย มีชายฝั่งทะเลยาว 222 กิโลเมตร และความกว้างของจังหวัดโดยเฉลี่ยประมาณ 36 กิโลเมตร

สภาพภูมิอากาศ

  จังหวัดชุมพรเป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเหตุให้มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ

1. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเปลี่ยนมรสุมหลังมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออ่อนกำลังลง

2. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - กลางเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันเป็นมวลอากาศที่มีความชื้นสูง และเปลี่ยนเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้เกิดฝนตกชุก มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,553 - 2,344 มิลลิเมตร


     สำหรับอุณหภูมิในจังหวัดชุมพร เฉลี่ยโดยประมาณ 27.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.6 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยสูงสุด 97 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยต่ำสุด 49 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปี 81 เปอร์เซ็นต์

อำเภอท่าแซะ

ประวัติความเป็นมาของอำเภอท่าแซะ
   เมืองท่าแซะ ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน ต่อมาในปี พ.ศ.2439 (ร.ศ.115) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดการท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ให้ลดฐานะเมืองท่าแซะ เมืองปะทิว เมืองกำเนิดนพคุณเป็นอำเภอขึ้นต่อมณฑลชุมพรและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระเทพไชยบุรินทร์ (คล้าย ฐิตะฐาน) ดำรงตำแหน่งกรมการอำเภอ (นายอำเภอ) คนแรกขณะนั้นที่ว่าการอำเภอท่าแซะตั้งอยู่ระหว่างวัดแหลมยางกับวัดยางฆ้อ พ.ศ.2462 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศแจ้งความลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2462 ให้ยุบอำเภอ ท่าแซะเป็นกิ่งอำเภอท่าแซะ โอนการปกครองขึ้นอยู่กับอำเภอปะทิวโดยอ้างว่าท้องที่อำเภอท่าแซะ โดยมากยังเป็นป่าเขา การงานมีน้อย หมู่บ้าน และตำบลก็ตั้งค่อนไปทางอำเภอปะทิวทางไปมาก็สะดวก อำเภอปะทิวมีคนมาก การทำมาหากินก็กำลังเจริญ พ.ศ.2464 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอท่าแซะจากบ้านแหลมยางมาตั้งที่บ้านโตนดการ้อง (จุดที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรในปัจจุบัน) ต่อมาทางราชการเห็นว่าท่าแซะมีพื้นที่กว้างขวาง มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า (สหภาพเมียนม่าร์ในปัจจุบัน) และมีประชากรหนาแน่น ทางราชการได้ออกประกาศ ณ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2483 ยกฐานะ กิ่งอำเภอท่าแซะ เป็นอำเภอท่าแซะอีกครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
   ท่าแซะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองชุมพร ในสมัยโบราณในการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่าทุก ๆ ปี จะต้องมีการเตรียมตัวป้องกันการรุกรานของพม่าข้าศึก เพราะข้าศึกจะมาตีเมืองชุมพรได้จะต้องเดินทัพผ่านอำเภอท่าแซะ ท่าแซะจึงเป็นสมรภูมิรับข้าศึก ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้สถานที่ ต่าง ๆ มีชื่อเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายแห่ง อาทิ ตำบลทัพรอ มาจากการที่กองทัพพม่าเดินทัพผ่านมาทางพื้นที่แห่งนี้ก็รอทัพไว้ จึงเรียกนามตำบลนี้ว่า “ทัพรอ” ต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็นตำบล “รับร่อ” ในปัจจุบัน

คำขวัญอำเภอหลังสวน
   พ่อตาหินช้างเรืองเดช 
เข้าเขตประตูภาคใต้ 
ไหว้เสด็จในกรม
ชมถ้ำเก่าแก่ 
แหล่งเผยแพร่วัฒนธรรม
น้ำตกงามธรรมชาติ 
แดนยุทธศาสตร์ 491

ที่ตั้งและอาณาเขต 
   อำเภอท่าแซะตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดชุมพร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,531.215 ตารางกิโลเมตร หรือเนื้อที่ประมาณ 957,011.25 ไร่ มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนองและประเทศเมียนม่าร์

สภาพทางภูมิศาสตร์
   ภูมิประเทศโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นภูเขา ในตอนเหนือเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา และค่อยลาดต่ำเป็นที่ราบลุ่ม ตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ทิศตะวันตกเป็นทิวเขาสลับซับซ้อนและเป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศ มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสายที่สำคัญ ได้แก่ คลองท่าแซะ ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากเขากระทะครอบอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยไหลผ่านพื้นที่อำเภอท่าแซะในตำบลสองพี่น้อง‚ สลุย‚ หงษ์เจริญ‚ ทรัพย์อนันต์‚ คุริง‚ ท่าแซะและนากระตาม และคลองรับร่อ มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรีทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านลงมาสู่ที่ราบลุ่มทางตอนใต้พื้นที่อำเภอท่าแซะ ในตำบลรับร่อและท่าข้ามไหลมาบรรจบรวมกับคลองท่าแซะที่ตำบลนากระตาม รวมเป็นแม่น้ำท่าตะเภาไหลลงสู่อ่าวไทยในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมอำเภอท่าแซะและอำเภอเมืองชุมพรอยู่เสมอ พื้นที่และการใช้ประโยชน์ทางทิศตะวันตกตามแนวชายแดนเป็นภูเขาสูงที่ราษฎรใช้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟ ส่วนที่ราบมักใช้ทำสวน เช่น สวนปาล์ม สวนยางพารา สำหรับพื้นที่ราบลุ่มทางตอนใต้เป็นที่นา

การปกครอง
   อำเภอท่าแซะแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 ตำบล 116 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลท่าแซะ 18 หมู่บ้าน 
ตำบลท่าข้าม 15 หมู่บ้าน 
ตำบลคุริง 7 หมู่บ้าน
ตำบลหงษ์เจริญ 14 หมู่บ้าน
ตำบลสลุย 9 หมู่บ้าน
ตำบลหินแก้ว 6 หมู่บ้าน 
ตำบลนากระตาม 11 หมู่บ้าน
ตำบลทรัพย์อนันต์ 7 หมู่บ้าน
ตำบลรับร่อ 23 หมู่บ้าน
ตำบลสองพี่น้อง 7 หมู่บ้าน

อำเภอปะทิว

ประวัติความเป็นมา

   อำเภอปะทิวเดิมเป็นเมืองขนาดเล็ก ซึ่งกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองอุทุมพร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรนครศรีธรรมราช และเป็นส่วนที่แคบที่สุด อยู่ที่บ้านท่าข้าม อำเภอท่าแซะ เมืองปะทิว เป็นทางผ่านไปทำมาหากินของชนพื้นเมืองจากตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่สูงบริเวณดอนตาเถร ดอนยายชี ดอนตะเคียน บ้านหัวนอน และบ้านเกาะ หรือ เกาะชะอม พ.ศ.2313 - 2339 มีหัวเมืองชื่อ ครุฑ ปกครองเมืองปะทิว ตั้งที่ทำการและบ้านเรือนบริเวณทางใต้ของดอนตาเถร ด้านตะวันออกของสำนักงานสหกรณ์การเกษตรในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลบางสน พ.ศ. 2340 - 2375 หัวเมืองยิ่งปกครองเมืองปะทิวต่อจากหัวเมืองครุฑ ตั้งที่ทำการศาลาและบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเกาะ ซึ่งขุดโดยแรงงานทาส กว้าง 3 วา ล้อมรอบพื้นที่ 5 ไร่ ปัจจุบันเรียกว่า เกาะชะอม อยู่ที่หมู่ 2 ตำบลทะเลทรัพย์
   คำว่า “ปทิว” เป็นชื่อเก่าแก่มาแต่เดิม แต่ในปัจจุบันใช้คำว่า “ปะทิว” ซึ่งตามตัวอักษรไม่มีความหมาย เพราะไม่มี คำแปลความหมาย แต่ฟังตามสำเนียงภาษาพื้นเมือง พอจะทราบว่า ปะทิว เรียกตามสภาพของท้องที่โดยในทะเลหน้าอ่าวทุ่งมหา ตำบลปากคลอง มีเกาะอยู่เรียงรายเป็นทิวแถว เมื่อไป ตั้งเมืองในทำเลซึ่งมีสภาพท้องที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ก็ตั้งชื่อเมืองว่า เมืองปะทิว

คำขวัญอำเภอปะทิว
   ประตูทักษิณ
ถิ่นค่างแว่น 
แดนหาดทรายงาม
ลือนามปะการัง 
ชื่อดังเขาเจดีย์

ที่ตั้งและอาณาเขต 
    อำเภอปะทิว ตั้งอยู่ทาง ทิศเหนือ ของจังหวัดชุมพร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 779 ตารางกิโลเมตร  
มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอบางสะพานน้อยจังหวัดระจวบคีรีขันธ์
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร

สภาพทางภูมิศาสตร์
   สภาพพื้นที่เป็นภูเขาและเนินสูง สลับพื้นที่ราบโดยทั่วไปและพื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันออก และมีพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทยระยะประมาณ 80 กิโลเมตร


การปกครอง
   อำเภอปะทิวแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 ตำบล 75 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลบางสน 8 หมู่บ้าน
ตำบลทะเลทรัพย์ 8 หมู่บ้าน
ตำบลสะพลี 11 หมู่บ้าน
ตำบลชุมโค 14 หมู่บ้าน
ตำบลดอนยาง 16 หมู่บ้าน
ตำบลปากคลอง 7 หมู่บ้าน
ตำบลเขาไชยราช 11 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองชุมพร

ประวัติความเป็นมา
   อำเภอเมืองชุมพรเดิมเรียกว่า “อำเภอท่าตะเภา” ย้อนหลังลงไปเรียกว่า “เมืองชุมพร” และก่อนเมืองชุมพรเรียกว่า “บ้านประเดิม” เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประมาณระหว่างปีพ.ศ.1820 - พ.ศ.1860 จะเห็นได้ว่าอาณาเขตสมัยนั้นแผ่ออกไปกว้างขวางมาก ทั้งทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทางทิศใต้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิ คือเมืองอู่ทองกับเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีและเมืองนครศรีธรรมราช ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตอนนั้นยังไม่มีจารึกชื่อเมืองชุมพร จึงเป็นไปได้ว่าเมืองชุมพรคงยังไม่มี แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีเมืองชุมพรปรากฏอยู่ในกฎหมายนั้นแล้ว ดังนั้นจึงพอที่จะอนุโลมได้ว่าเมืองชุมพรคงจะมีมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยากับ ต้นสมัยรัตนโกสินทร์

คำขวัญอำเภอเมืองชุมพร
   ก้าวสู่เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   และพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ

ที่ตั้งและอาณาเขต 
    อยู่บริเวณส่วนกลางของจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นบริเวณคอคอดกระ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย มีพื้นที่ 748.39 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอท่าแซะและอำเภอปะทิว
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอสวี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอกระบุรี (จังหวัดระนอง)

สภาพทางภูมิศาสตร์
    อำเภอเมืองชุมพรมีเนื้อที่ประมาณ 748.39 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศของอำเภอชุมพรเป็นเทือกเขาด้านตะวันตก พื้นที่ลอนลาดกับที่ราบในตอนกลางและด้านตะวันออก เหมาะสำหรับทำการเกษตร พื้นที่ด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายสำคัญ 3 สายของอำเภอ ที่ไหลไปทางตะวันออกตามสภาพลาดเอียงของพื้นที่ลงสู่ทะเล คือแม่น้ำท่าตะเภา คลองชุมพรและคลองวิสัย พื้นที่ตอนกลางเป็นลูกคลื่นลอนลาดและลูกคลื่น ลอนชันสลับกันไป เป็นเขตที่มีการเพาะปลูกผลไม้และไม้ยืนต้นที่พื้นที่ด้านตะวันออกเป็นที่ราบและที่ราบลุ่มมักจะมีน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี

การปกครอง
   อำเภอเมืองชุมพรแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล 161 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลปากน้ำ 10 หมู่บ้าน
ตำบลวังไผ่ 13 หมู่บ้าน 
ตำบลถ้ำสิงห์ 6 หมู่บ้าน
ตำบลวังใหม่ 9 หมู่บ้าน
ตำบลบางหมาก 12 หมู่บ้าน
ตำบลขุนกระทิง 8 หมู่บ้าน
ตำบลนาทุ่ง 7 หมู่บ้าน
ตำบลวิสัยเหนือ 12 หมู่บ้าน
ตำบลตากแดด 9 หมู่บ้าน
ตำบลหาดพันไกร 12 หมู่บ้าน
ตำบลท่ายาง 11หมู่บ้าน
ตำบลบ้านนา 13 หมู่บ้าน
ตำบลบางลึก 12 หมู่บ้าน
ตำบลทุ่งคา 11 หมู่บ้าน
ตำบลนาชะอัง 9 หมู่บ้าน
ตำบลหาดทรายรี 7 หมู่บ้าน