วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อำเภอพะโต๊ะ

ประวัติความเป็นมา

   เมืองพะโต๊ะ เป็นเมืองโบราณในอาณาจักรศรีวิชัย มีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุของชาวจูเกาะ พ.ศ.1766 และในพงศาวดารจีนราชวงศ์สุง พ.ศ.1503 - 1822 ในชื่อเมืองปะตา มีสินค้าสำคัญได้แก่ หวาย ยางกิโนแดง ไม้ดำหอม หมาก และมะพร้าว
   พ.ศ.2399 พระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เจ้าเมืองหลังสวนยกฐานะบ้านพะโต๊ะเป็นหัวเมืองใย มีขุนภักดีราษฎร์ (ใย ภักดี) เป็นเจ้าเมือง มีหน้าที่เก็บภาษีอากร คุมคดีแพ่งและอาญา ดูแลทุกข์สุขของประชาชน
   พ.ศ.2422 ได้มีการจัดทำเหมืองแร่ดีบุกขึ้นที่บ้านปากทรง ทำให้บ้านดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากในสมัยนั้น และในปี 2460 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกท้องที่เมืองพะโต๊ะขึ้นเป็นอำเภอ ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ขึ้นกับจังหวัดหลังสวน โดยมีหลวงแพ่ง ศุภการ เป็นนายอำเภอคนแรก
   พ.ศ.2476 เกิดกบฏบวรเดช สิบเอก ม.จ.บัณฑิต เสนีย์วงศ์ กับพวกรวม 4 คนได้หลบหนีมาอยู่ในพื้นที่พะโต๊ะ และก่อคดีอาญายิงพวกเดียวกันตาย จึงหลบหนีเข้าป่าเปลี่ยนชื่อเป็น เสือวิไล มีอิทธิพลอยู่ประมาณ 6 ปีเศษจึงถูกยิงเสียชีวิต
   พ.ศ.2480 เกิดโรคไข้น้ำระบาด ชาวพะโต๊ะได้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลืออยู่ได้พากันอพยพออกไปอยู่ที่อื่น จนเหลือประชากรน้อย ในที่สุด
  พ.ศ. 2485 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอพะโต๊ะขึ้นการปกครองกับอำเภอหลังสวนแทน
   ในปี 2506 ได้มีการก่อสร้างถนนสายราชกรูด-หลังสวน ผ่านกิ่งอำเภอพะโต๊ะ และ พ.ศ.2510 ได้มีการก่อสร้างโรงจักรไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้กิ่งอำเภอพะโต๊ะเริ่มมีไฟฟ้าใช้ระหว่างเวลา 18.00-24.00 น
   พ.ศ.2522 กิ่งอำเภอพะโต๊ะตกอยู่ในเขตแทรกซึมของ ผกค.ได้มีการนำกำลังเข้าโจมตี และเผา สภ.กิ่ง อำเภอพะโต๊ะถึง 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2523 และวันที่ 4 เม.ย.2524 และในปีถัดมา 2525 ผู้คนจากทุกสารทิศได้เริ่มทยอยหลั่งไหลเข้ามาจับจองผืนป่า ปลูกสวนผลไม้ ตั้งรกรากทำมาหากิน ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนทำให้อาชีพการทำสวนผลไม้ กลายเป็นอาชีพหลักของคนพะโต๊ะไปในที่สุด
   วันที่ 19 มิ.ย.2534 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอพะโต๊ะอีกครั้งหนึ่ง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอน 107 หน้า 29 มีฐานะเป็นอำเภอชั้น 4 โดยมีว่าที่ ร.ต.ชยันต์ นาคเพชร เป็นนายอำเภอคนแรก
   ในปี 2536 นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล นายอำเภอได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลล่องแพขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในปี 2541 เทศกาลดังกล่าวได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยว ของ ท.ท.ท. และได้กลายเป็นเทศกาลสำคัญของอำเภอพะโต๊ะมาจนถึงปัจจุบัน
   ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 สมัยนายอำนวย จงแจ่มใส เป็นนายอำเภอได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ริมถนนสายราชกรูด - หลังสวน เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบัน
   คำว่า “พะโต๊ะ” มีที่มาจากคำว่า ปะตะ เป็นภาษาบาลี แปลว่า ตก หรือ เหว ทั้งนี้สืบเนื่องจากภูมิประเทศทั้งอำเภอกว่า 6 แสนไร่ เป็นภูเขาสูง และป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ มีน้ำตกมากมายหลายแห่ง อีกที่มาหนึ่งให้ความหมายว่า พะโต๊ะ มาจากชื่อเรียก ปากคลองโต๊ะ ซึ่งเป็นคลองที่ไหลมาจากภูเขาโต๊ะลงสู่แม่น้ำหลังสวน แต่ภาษาถิ่นเรียกสั้นเป็น ปากโต๊ะ และปักโต๊ะ และกลายเป็น พะโต๊ะ ในที่สุด
   อำเภอพะโต๊ะเป็นอำเภอที่ได้ฉายาว่า “เมือง 3 ทะเล” คือ กลางคืนดูทะเลดาว ตื่นเช้าดูทะเลหมอก พอแดดออกดูทะเลป่า

คำขวัญอำเภอพะโต๊ะ
   ดินแดนแห่งภูเขาเขียว
เที่ยวล่องแพ 
แลหมอกปก
น้ำตกงาม 
ลือนามผลไม้

ที่ตั้งและอาณาเขต 
   อำเภอพะโต๊ะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชุมพรในทั้งหมด 8 อำเภอ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดชุมพร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 114 กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 564 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ ถนนเพชรเกษม อำเภอพะโต๊ะ มีพื้นที่ทั้งหมด 635,625 ไร่ หรือประมาณ 1,017 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ร้อยละ 16.95 มีเนื้อที่มากเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดชุมพร
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

สภาพภูมิศาสตร์
   อำเภอพะโต๊ะเป็นอำเภอในสองอำเภอของจังหวัดชุมพรที่ไม่มีพรมแดนติดต่อกับทะเล สภาพทางภูมิประเทศเป็นที่ภูเขาสูง สลับกับที่ราบประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีภูเขาที่ต่อเนื่องเป็นกระดูกสันหลังของคาบสมุทรมลายู ที่เป็นแนวเทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาภูเก็ตและเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูที่เป็นส่วนระหว่างทะเลอันดามัน, มหาสมุทรอินเดีย, อ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก

การปกครอง
   อำเภอพะโต๊ะแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 4 ตำบล 36 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลปังหวาน 9 หมู่บ้าน 
ตำบลปากทรง 9 หมู่บ้าน
ตำบลพระรักษ์ 9 หมู่บ้าน
ตำบลปากทรง 9 หมู่บ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น