วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จังหวัดชุมพร ( Chumphon Province )


   จังหวัดชุมพรเป็นเมืองที่เก่าแก่และมีความเป็นมาที่ยาวนาน ชุมพรเป็นประตูด่านแรกที่จะเข้าสู่ภาคใต้ มีหาดทรายทอดตัวยาวถึง 222 กิโลเมตร มีเกาะกว่า 30 เกาะ ความสวยงามของท้องทะเลสีคราม ความร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แนวปะการัง ดอกไม้ทะเล และฝูงปลาหลากชนิด ทำให้ชุมพรเหมาะแก่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวยุคใหม่
   นอกจากนั้นชุมพรยังเป็นเมืองผลไม้ที่มีผลไม้ขึ้นชื่อหลายชนิด และช่วงฤดูกาลผลไม้เดือนกรกฎาคม - เดือนสิงหาคม ไม่ว่าจะเป็นกล้วยเล็บมือ ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด เป็นต้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งการท่องเที่ยวลักษณะนี้เป็นการท่องเที่ยวที่สามารถเข้าไปสัมผัสถึงชีวิตของชาวสวน กิจกรรมภายในสวน รวมถึงอิ่มอร่อยไปกับผลไม้ นักท่องเที่ยวจะได้รับความเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติที่สวยงามของป่า เทือกเขาหินปูน ตลอดสองข้างทางจะรายล้อมไปด้วยไปด้วยสวนผลไม้ตลอดทาง บรรยากาศเต็มไปด้วยต้นไม้ ร่มรื่น เขียวชอุ่ม นอกจากนี้จังหวัดชุมพรยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดชุมพร


   จังหวัดชุมพร เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งตั้งขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่จากหลักฐานในกฎหมายตราสามดวงในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (สมัยกรุงศรีอยุธยา) สันนิษฐานได้ว่า ชุมพรมีอายุตราบจนถึงปัจจุบันกว่า 600 ปีแล้ว โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเรียบเรียงความเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งเมืองชุมพรไว้ในตำนานเมืองระนองความตอนหนึ่งว่า “เมืองชุมพรประหลาดผิดจากเมืองอื่นๆ” ในแหลมมาลายูที่ตั้งมาแต่โบราณ เช่น เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น ล้วนมีโบราณสถาน โบราณวัตถุปรากฏให้เห็นรู้ได้ว่าเป็นเมืองโบราณ แต่เมืองชุมพรไม่พบโบราณสถานและโบราณวัตถุแต่อย่างใด อาจจะเป็นด้วยเหตุ 2 ประการ คือ มีพื้นที่นาไม่พอกับคน 
     ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งตั้งอยู่ตรง คอคอดแหลมมาลายู ซึ่งมักเป็นสมรภูมิรบพุ่งกันตรงนี้ จึงไม่สามารรถสร้างเมืองถาวรไว้ แต่ต้องรักษาไว้เป็นเมือง “หน้าด่าน” สำหรับชื่อ “เมืองชุมพร” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ชุมนุมพล” เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่าน การเดินทัพไม่ว่าจะมาจากฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้ เข้ามาตั้งค่ายชุมนุมกันที่นี่จึงเรียก จุดนี้ว่า “ชุมนุมพล” แต่ด้วยเหตุที่คนใต้ชอบพูดคำสั้น ๆ จึงตัดคำกลางออกเหลือเพียง “ชุมพล” และต่อมาเพี้ยนเป็น “ชุมพร”
   อีกประการหนึ่งในการเดินทางไปรบทัพจับศึกของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ได้รับชัยชนะในการสู้รบเป็นการบำรุงขวัญทหารในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้ ตรงกับความหมาย “ชุมนุมพร” หรือ “ประชุมพร” ซึ่งสองคำนี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า "ชุมพร" เช่นเดียวกัน แต่อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้มาจากชื่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในท้องถิ่นเช่นเดียวกับชื่อท้องที่ทั่ว ๆ ไป เพราะที่ตั้งเมืองเดิมบนฝั่งท่าน้ำชุมพรมีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นอยู่มากมาย ต้นมะเดื่อชุมพรจึงเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองอยู่ในตราจังหวัดจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลประจำจังหวัด

ตราสัญลักษณ์จังหวัดชุมพร 


ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 
1. ภาพคนยืน หมายถึง เทวดาที่ประทานพรให้แก่ชาวเมือง และกองทัพที่จะยกออกไปทำศึก 
2. ภาพต้นไม้ทั้งสองข้าง หมายถึง ต้นมะเดื่อ ซึ่งในพื้นที่ของจังหวัดมีต้นไม้ชนิดนี้อยู่มากมาย 
3. ภาพค่ายและหอรบ หมายถึง จังหวัดนี้เคยเป็นที่ชุมนุมของบรรดานักรบทั้งหลาย ซึ่งนัดให้มาพร้อมกัน ณ ที่แห่งนี้ ก่อนที่จะเดินทัพออกไปสู้รบกับข้าศึก เพราะว่าในสมัยโบราณชุมพรนั้นเป็นเมืองหน้าด่าน 

ธงประจำจังหวัดชุมพร 





ดอกไม้ประจำจังหวัด 


ชื่อทั่วไป : ดอกพุทธรักษา 
ชื่อสามัญ : Butsarana 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canna indica Linn. 
ชื่อวงศ์ : Cannaceae 
ชื่ออื่น : พุทธศร บัวละวงศ์ 
ถิ่นกำเนิด : ประเทศอินเดีย 
ลักษณะทั่วไป : พรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นสูงประมาณ 1- 2 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า เจริญเติบโตโดยแตกหน่อเป็นกอ คล้ายกล้วย ใบมีขนาดใหญ่สีเขียว โคนใบและปลายใบรีแหลมขอบใบเรียบ กลางใบเป็นเส้นนูนเห็นชัด ใบมีก้านยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกันออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้นช่อดอกเป็น ช่อดอกยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอก 8 - 10 ดอก และมีกลีบบางนิ่ม ขนาดของและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์ 
การขยายพันธุ์ : การเพาะเมล็ด การแตกหน่อ 
สภาพที่เหมาะสม : ดินร่วนซุย แสงแดดจัดกลางแจ้ง 

ต้นไม้ประจำจังหวัด 


ชื่อทั่วไป : ต้นมะเดื่ออุทุมพร 
ชื่อสามัญ : Cluster Fig 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus racemosa Linn. 
ชื่อวงศ์ : LAURACEAE 
ชื่ออื่น : มะเดื่อ มะเดื่อชุมพร กูแซ เดื่อเกลี้ยง เดื่อน้ำ 
ถิ่นกำเนิด : ถิ่นกำเนิดในศรีลังกา จีนตอนใต้ เอเชียใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ 
ลักษณะทั่วไป : ไม้ต้นผลัดใบสูง 5 - 20 เมตร กิ่งอ่อน มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมบางๆ ต่อมาจะหลุดร่วง ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับแผ่นใบรูปไข่ถึงรูปหอกปลายใบแหลโคนใบทู่ถึงกลมก้านใบยาว10.5 เซนติเมตร ดอกเล็กออกเป็นกระจุกผลรูปไข่กลับ เมื่อสุกสีแดงเข้มถึงสีม่วง 
การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ดในถุงเพาะกล้าจนงอกและแข็งแรงก่อนจึงย้ายไปปลูก ลงดิน และปักชำกิ่ง 
สภาพที่เหมาะสม : ดินร่วน และมีอินทรีย์วัตถุ ระบายน้ำได้ดี



คำขวัญประจำจังหวัดชุมพร

ชุมพรประตูภาคใต้
ไหว้เสด็จในกรม 
ชมไร่กาแฟ  
แลหาดทรายรี
ดีกล้วยเล็บมือ
ขึ้นชื่อรังนก





ข้อมูลทางภูมิศาสตร์

ที่ตั้งและอาณาเขต 



   จังหวัดชุมพรตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย บนแหลมมลายูบริเวณคอคอดกระ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ระยะทางประมาณ 463 กิโลเมตร และทางรถไฟสายใต้ประมาณ 485 กิโลเมตร มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร กว้างโดยเฉลี่ยประมาณ 36 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอำเภอปะทิว อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน และอำเภอละแม จดอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอำเภอท่าแซะติดต่อกับอำเภอกระบุรี จังหวัดระนองและ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ เขตอำเภอเมือง อำเภอสวี อำเภอหลังสวน และอำเภอพะโต๊ะ ติดต่อกับอำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

การปกครอง
   จังหวัดชุมพรแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่
อำเภอเมืองชุมพร 
อำเภอสวี
อำเภอท่าแซะ 
อำเภอพะโต๊ะ
อำเภอปะทิว 
อำเภอละแม
อำเภอหลังสวน 
อำเภอทุ่งตะโก
อำเภอละแม

สภาพภูมิประเทศ


   จังหวัดชุมพรมีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพื้นที่ยาวและแคบ ความกว้างของจังหวัดโดยเฉลี่ย 36 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ของจังหวัด ชุมพร แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

1. ทางด้านตะวันตกของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่สูง มีเทือกเขาตะนาวศรี และเทือกเขาภูเก็ต เป็นแนวกั้น เขตแดนธรรมชาติ ประกอบด้วย ภูเขา และป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัด ชุมพร เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลจากทางทิศตะวันตกออกสู่ทะเลทางทิศตะวันออก เป็นแม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำละแม เป็นต้น

2. บริเวณตอนกลางของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่นและที่ราบลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะสำหรับเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด มีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่จังหวัด

3. ทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบไปตามแนวชายฝั่งทะเล อ่าวไทย ลักษณะชายหาดค่อนข้างเรียบ มีความโค้งเว้าน้อย หาดทรายกว้างและมีความลาดชันน้อย มีชายฝั่งทะเลยาว 222 กิโลเมตร และความกว้างของจังหวัดโดยเฉลี่ยประมาณ 36 กิโลเมตร

สภาพภูมิอากาศ

  จังหวัดชุมพรเป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเหตุให้มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ

1. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเปลี่ยนมรสุมหลังมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออ่อนกำลังลง

2. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - กลางเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันเป็นมวลอากาศที่มีความชื้นสูง และเปลี่ยนเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้เกิดฝนตกชุก มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,553 - 2,344 มิลลิเมตร


     สำหรับอุณหภูมิในจังหวัดชุมพร เฉลี่ยโดยประมาณ 27.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.6 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยสูงสุด 97 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยต่ำสุด 49 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปี 81 เปอร์เซ็นต์

อำเภอท่าแซะ

ประวัติความเป็นมาของอำเภอท่าแซะ
   เมืองท่าแซะ ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน ต่อมาในปี พ.ศ.2439 (ร.ศ.115) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดการท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ให้ลดฐานะเมืองท่าแซะ เมืองปะทิว เมืองกำเนิดนพคุณเป็นอำเภอขึ้นต่อมณฑลชุมพรและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระเทพไชยบุรินทร์ (คล้าย ฐิตะฐาน) ดำรงตำแหน่งกรมการอำเภอ (นายอำเภอ) คนแรกขณะนั้นที่ว่าการอำเภอท่าแซะตั้งอยู่ระหว่างวัดแหลมยางกับวัดยางฆ้อ พ.ศ.2462 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศแจ้งความลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2462 ให้ยุบอำเภอ ท่าแซะเป็นกิ่งอำเภอท่าแซะ โอนการปกครองขึ้นอยู่กับอำเภอปะทิวโดยอ้างว่าท้องที่อำเภอท่าแซะ โดยมากยังเป็นป่าเขา การงานมีน้อย หมู่บ้าน และตำบลก็ตั้งค่อนไปทางอำเภอปะทิวทางไปมาก็สะดวก อำเภอปะทิวมีคนมาก การทำมาหากินก็กำลังเจริญ พ.ศ.2464 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอท่าแซะจากบ้านแหลมยางมาตั้งที่บ้านโตนดการ้อง (จุดที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรในปัจจุบัน) ต่อมาทางราชการเห็นว่าท่าแซะมีพื้นที่กว้างขวาง มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า (สหภาพเมียนม่าร์ในปัจจุบัน) และมีประชากรหนาแน่น ทางราชการได้ออกประกาศ ณ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2483 ยกฐานะ กิ่งอำเภอท่าแซะ เป็นอำเภอท่าแซะอีกครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
   ท่าแซะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองชุมพร ในสมัยโบราณในการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่าทุก ๆ ปี จะต้องมีการเตรียมตัวป้องกันการรุกรานของพม่าข้าศึก เพราะข้าศึกจะมาตีเมืองชุมพรได้จะต้องเดินทัพผ่านอำเภอท่าแซะ ท่าแซะจึงเป็นสมรภูมิรับข้าศึก ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้สถานที่ ต่าง ๆ มีชื่อเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายแห่ง อาทิ ตำบลทัพรอ มาจากการที่กองทัพพม่าเดินทัพผ่านมาทางพื้นที่แห่งนี้ก็รอทัพไว้ จึงเรียกนามตำบลนี้ว่า “ทัพรอ” ต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็นตำบล “รับร่อ” ในปัจจุบัน

คำขวัญอำเภอหลังสวน
   พ่อตาหินช้างเรืองเดช 
เข้าเขตประตูภาคใต้ 
ไหว้เสด็จในกรม
ชมถ้ำเก่าแก่ 
แหล่งเผยแพร่วัฒนธรรม
น้ำตกงามธรรมชาติ 
แดนยุทธศาสตร์ 491

ที่ตั้งและอาณาเขต 
   อำเภอท่าแซะตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดชุมพร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,531.215 ตารางกิโลเมตร หรือเนื้อที่ประมาณ 957,011.25 ไร่ มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนองและประเทศเมียนม่าร์

สภาพทางภูมิศาสตร์
   ภูมิประเทศโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นภูเขา ในตอนเหนือเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา และค่อยลาดต่ำเป็นที่ราบลุ่ม ตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ทิศตะวันตกเป็นทิวเขาสลับซับซ้อนและเป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศ มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสายที่สำคัญ ได้แก่ คลองท่าแซะ ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากเขากระทะครอบอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยไหลผ่านพื้นที่อำเภอท่าแซะในตำบลสองพี่น้อง‚ สลุย‚ หงษ์เจริญ‚ ทรัพย์อนันต์‚ คุริง‚ ท่าแซะและนากระตาม และคลองรับร่อ มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรีทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านลงมาสู่ที่ราบลุ่มทางตอนใต้พื้นที่อำเภอท่าแซะ ในตำบลรับร่อและท่าข้ามไหลมาบรรจบรวมกับคลองท่าแซะที่ตำบลนากระตาม รวมเป็นแม่น้ำท่าตะเภาไหลลงสู่อ่าวไทยในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมอำเภอท่าแซะและอำเภอเมืองชุมพรอยู่เสมอ พื้นที่และการใช้ประโยชน์ทางทิศตะวันตกตามแนวชายแดนเป็นภูเขาสูงที่ราษฎรใช้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟ ส่วนที่ราบมักใช้ทำสวน เช่น สวนปาล์ม สวนยางพารา สำหรับพื้นที่ราบลุ่มทางตอนใต้เป็นที่นา

การปกครอง
   อำเภอท่าแซะแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 ตำบล 116 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลท่าแซะ 18 หมู่บ้าน 
ตำบลท่าข้าม 15 หมู่บ้าน 
ตำบลคุริง 7 หมู่บ้าน
ตำบลหงษ์เจริญ 14 หมู่บ้าน
ตำบลสลุย 9 หมู่บ้าน
ตำบลหินแก้ว 6 หมู่บ้าน 
ตำบลนากระตาม 11 หมู่บ้าน
ตำบลทรัพย์อนันต์ 7 หมู่บ้าน
ตำบลรับร่อ 23 หมู่บ้าน
ตำบลสองพี่น้อง 7 หมู่บ้าน

อำเภอปะทิว

ประวัติความเป็นมา

   อำเภอปะทิวเดิมเป็นเมืองขนาดเล็ก ซึ่งกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองอุทุมพร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรนครศรีธรรมราช และเป็นส่วนที่แคบที่สุด อยู่ที่บ้านท่าข้าม อำเภอท่าแซะ เมืองปะทิว เป็นทางผ่านไปทำมาหากินของชนพื้นเมืองจากตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่สูงบริเวณดอนตาเถร ดอนยายชี ดอนตะเคียน บ้านหัวนอน และบ้านเกาะ หรือ เกาะชะอม พ.ศ.2313 - 2339 มีหัวเมืองชื่อ ครุฑ ปกครองเมืองปะทิว ตั้งที่ทำการและบ้านเรือนบริเวณทางใต้ของดอนตาเถร ด้านตะวันออกของสำนักงานสหกรณ์การเกษตรในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลบางสน พ.ศ. 2340 - 2375 หัวเมืองยิ่งปกครองเมืองปะทิวต่อจากหัวเมืองครุฑ ตั้งที่ทำการศาลาและบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเกาะ ซึ่งขุดโดยแรงงานทาส กว้าง 3 วา ล้อมรอบพื้นที่ 5 ไร่ ปัจจุบันเรียกว่า เกาะชะอม อยู่ที่หมู่ 2 ตำบลทะเลทรัพย์
   คำว่า “ปทิว” เป็นชื่อเก่าแก่มาแต่เดิม แต่ในปัจจุบันใช้คำว่า “ปะทิว” ซึ่งตามตัวอักษรไม่มีความหมาย เพราะไม่มี คำแปลความหมาย แต่ฟังตามสำเนียงภาษาพื้นเมือง พอจะทราบว่า ปะทิว เรียกตามสภาพของท้องที่โดยในทะเลหน้าอ่าวทุ่งมหา ตำบลปากคลอง มีเกาะอยู่เรียงรายเป็นทิวแถว เมื่อไป ตั้งเมืองในทำเลซึ่งมีสภาพท้องที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ก็ตั้งชื่อเมืองว่า เมืองปะทิว

คำขวัญอำเภอปะทิว
   ประตูทักษิณ
ถิ่นค่างแว่น 
แดนหาดทรายงาม
ลือนามปะการัง 
ชื่อดังเขาเจดีย์

ที่ตั้งและอาณาเขต 
    อำเภอปะทิว ตั้งอยู่ทาง ทิศเหนือ ของจังหวัดชุมพร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 779 ตารางกิโลเมตร  
มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอบางสะพานน้อยจังหวัดระจวบคีรีขันธ์
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร

สภาพทางภูมิศาสตร์
   สภาพพื้นที่เป็นภูเขาและเนินสูง สลับพื้นที่ราบโดยทั่วไปและพื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันออก และมีพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทยระยะประมาณ 80 กิโลเมตร


การปกครอง
   อำเภอปะทิวแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 ตำบล 75 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลบางสน 8 หมู่บ้าน
ตำบลทะเลทรัพย์ 8 หมู่บ้าน
ตำบลสะพลี 11 หมู่บ้าน
ตำบลชุมโค 14 หมู่บ้าน
ตำบลดอนยาง 16 หมู่บ้าน
ตำบลปากคลอง 7 หมู่บ้าน
ตำบลเขาไชยราช 11 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองชุมพร

ประวัติความเป็นมา
   อำเภอเมืองชุมพรเดิมเรียกว่า “อำเภอท่าตะเภา” ย้อนหลังลงไปเรียกว่า “เมืองชุมพร” และก่อนเมืองชุมพรเรียกว่า “บ้านประเดิม” เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประมาณระหว่างปีพ.ศ.1820 - พ.ศ.1860 จะเห็นได้ว่าอาณาเขตสมัยนั้นแผ่ออกไปกว้างขวางมาก ทั้งทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทางทิศใต้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิ คือเมืองอู่ทองกับเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีและเมืองนครศรีธรรมราช ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตอนนั้นยังไม่มีจารึกชื่อเมืองชุมพร จึงเป็นไปได้ว่าเมืองชุมพรคงยังไม่มี แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีเมืองชุมพรปรากฏอยู่ในกฎหมายนั้นแล้ว ดังนั้นจึงพอที่จะอนุโลมได้ว่าเมืองชุมพรคงจะมีมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยากับ ต้นสมัยรัตนโกสินทร์

คำขวัญอำเภอเมืองชุมพร
   ก้าวสู่เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   และพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ

ที่ตั้งและอาณาเขต 
    อยู่บริเวณส่วนกลางของจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นบริเวณคอคอดกระ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย มีพื้นที่ 748.39 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอท่าแซะและอำเภอปะทิว
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอสวี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอกระบุรี (จังหวัดระนอง)

สภาพทางภูมิศาสตร์
    อำเภอเมืองชุมพรมีเนื้อที่ประมาณ 748.39 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศของอำเภอชุมพรเป็นเทือกเขาด้านตะวันตก พื้นที่ลอนลาดกับที่ราบในตอนกลางและด้านตะวันออก เหมาะสำหรับทำการเกษตร พื้นที่ด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายสำคัญ 3 สายของอำเภอ ที่ไหลไปทางตะวันออกตามสภาพลาดเอียงของพื้นที่ลงสู่ทะเล คือแม่น้ำท่าตะเภา คลองชุมพรและคลองวิสัย พื้นที่ตอนกลางเป็นลูกคลื่นลอนลาดและลูกคลื่น ลอนชันสลับกันไป เป็นเขตที่มีการเพาะปลูกผลไม้และไม้ยืนต้นที่พื้นที่ด้านตะวันออกเป็นที่ราบและที่ราบลุ่มมักจะมีน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี

การปกครอง
   อำเภอเมืองชุมพรแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล 161 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลปากน้ำ 10 หมู่บ้าน
ตำบลวังไผ่ 13 หมู่บ้าน 
ตำบลถ้ำสิงห์ 6 หมู่บ้าน
ตำบลวังใหม่ 9 หมู่บ้าน
ตำบลบางหมาก 12 หมู่บ้าน
ตำบลขุนกระทิง 8 หมู่บ้าน
ตำบลนาทุ่ง 7 หมู่บ้าน
ตำบลวิสัยเหนือ 12 หมู่บ้าน
ตำบลตากแดด 9 หมู่บ้าน
ตำบลหาดพันไกร 12 หมู่บ้าน
ตำบลท่ายาง 11หมู่บ้าน
ตำบลบ้านนา 13 หมู่บ้าน
ตำบลบางลึก 12 หมู่บ้าน
ตำบลทุ่งคา 11 หมู่บ้าน
ตำบลนาชะอัง 9 หมู่บ้าน
ตำบลหาดทรายรี 7 หมู่บ้าน

อำเภอสวี

ประวัติความเป็นมา
   อำเภอสวีเป็นเมืองเก่าตั้งแต่โบราณเมืองหนึ่งในจังหวัด มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของไทยอยู่ริมคลองสวี ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ 48 มีหน้าที่ส่งส่วยพลอยแก่กรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2319 - 2327 เจ้าขัณฑสีมาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช แต่งตั้งพระสวีแก้ว ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสวี มีทายาทสืบต่อมาปกครองสวีหลายชั่วอายุคน พ.ศ. 2438 ถูกยุบเป็นอำเภอ โดยมีหลวงเสวีวรราช (แดง ธนะไชย) เป็นนายอำเภอคนแรก 
   คำว่า “สวี” ได้ชื่อมาจากคลองสวี ซึ่งมีต้นน้ำจากเขาทะลุ ตำบลเขาทะลุ ที่ต้นน้ำมีหินก้อนใหญ่รูปร่างคล้ายมีลักษณะคล้ายผู้หญิง จึงเชื่อกันว่าเดิมได้แต่งตั้งคลองนี้ว่า “ฉวี” ซึ่งหมายถึง ความสวยงาม คล้ายกับว่าคลองนี้เกิดขึ้นเพราะผู้หญิง และผู้หญิงที่อยู่ในถิ่นนี้เป็นที่ยกย่องกันว่ารูปร่างสวยงามต่อมาคำว่า “ฉวี” เพี้ยนมาเป็น “สวี” จนปัจจุบัน

คำขวัญอำเภอสวี
   พระธาตุเก่าแก่
กาแฟปลูกนำ
ระกำหวานดี
นารีสวยสด 
สับปะรดหวานกรอบ

ที่ตั้งและอาณาเขต 
   อำเภอสวีตั้งอยู่บนฝั่งทะเลด้านจะวันออกของภาคใต้ของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 799.578 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเมืองชุมพร
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน และอำเภอละอุ่น 
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอละอุ่นและอำเภอกระบุรี (จังหวัดระนอง)

สภาพทางภูมิศาสตร์
   อำเภอสวี ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศไทยพื้นที่เป็นที่ราบสูงทางทิศตะวันตกและลาดต่ำไปทางทิศตะวันออกจนกระทั่งจดทะเล สภาพพื้นดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนและดินเหนียวปนทราย มีภูเขาและป่าไม้เบญจพรรณมากมายหลายชนิด ทางด้านตะวันตกมีภูเขาสลับซับซ้อนเรียงรายยาวจากเหนือไปใต้ เรียกว่าทิวเขาตะนาวศรี ส่วนด้านตะวันออกส่วนใหญ่เป็นทุ่งราบริมฝั่งทะเลทั่วไป

การปกครอง
   อำเภอสวีแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 11 ตำบล 116 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลนาโพธิ์ 8 หมู่บ้าน
ตำบลนาสัก 19 หมู่บ้าน
ตำบลท่าหิน 10 หมู่บ้าน
ตำบลเขาค่าย 12 หมู่บ้าน
ตำบลทุ่งระยะ 11 หมู่บ้าน
ตำบลสวี 4 หมู่บ้าน
ตำบลครน 14 หมู่บ้าน
ตำบลปากแพรก 6 หมู่บ้าน
ตำบลด่านสวี 11 หมู่บ้าน
ตำบลวิสัยใต้ 10 หมู่บ้าน
ตำบลเขาทะลุ 11 หมู่บ้าน

อำเภอทุ่งตะโก

ประวัติความเป็นมา
   ได้ปรากฏหลักฐานการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ว่ามีการสร้างเมืองสิบสองนักษัตรเป็นเมืองบริวารซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือเมืองชุมพร ซึ่งมีศักดิ์เป็นเมืองตรีและมีเมืองขึ้นเล็กๆอีก 7 เมืองด้วยกัน คือ เมืองปะทิว เมืองท่าแซะ เมืองเมลิวัน เมืองกระ (ปัจจุบัน คือ อำเภอกระบุรี) เมืองระนอง เมือง หลังสวนและเมืองตะโก ต่อมาในภายหลังได้รวมเอาเมืองกำเนิดนพคุณ (คือ อำเภอบางสะพานน้อย) เข้ามาด้วย
   เมืองตะโกจึงได้มีชื่อในประวัติศาสตร์ตั้งแต่บัดนั้น และได้ถูกจัดให้ เป็นหัวเมืองจัตวาชั้นเอก และที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นทางผ่านของกองทัพ ที่ยกมาจากเมืองหลวง ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุง รัตนโกสินทร์ ดังปรากฏความตอนหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรีว่าเมื่อปีกุน เอกศก ล.ส.1137 (พ.ศ.2312) พระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าให้พระยาจักรียกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช มาถึงเมืองชุมพร นายมั่น ชาวเมืองชุมพรให้หาสมัครพรรคพวกจากเมืองชุมพรและเมืองตะโกเข้าเป็นกองอาสาศึก และฝึกทหารที่เมืองตะโกบริเวณใกล้วัดธรรมถาวรในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นชาวบ้านเรียกว่า"ดอนหัดม้า"มีตาขุนเพชรเป็นหัวหน้า และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปีมะเส็ง สัปตศก จ.ศ.1147 (พ.ศ.2328) พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองไทยทาง เมืองระนอง เมืองกระ เมืองชุมพร เมืองตะโกและเมืองไชยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหานาท ยกทัพเรือขึ้นบกที่เมืองชุมพร เพื่อช่วยเหลือหัวเมืองปักใต้ โดยเดินทัพผ่านเมืองตะโก เมืองหลังสวน ไปสู้กันที่เมืองไชยา
   เมืองตะโกถูกพม่าตีแตกและเผาทำลายจนสิ้นซากพร้อมๆกับเมืองชุมพร จึงเป็นเมืองที่ไร้ชื่อตลอดมา จากหลักฐานที่ปรากฏ คนสุดท้ายที่รักษาเมืองตะโกคือ“หมื่นรามราชรักษา” จนถึง พ.ศ.2440 เมืองตะโกได้ถูกลดฐานะลงมาเป็นตำบลขึ้นกับเมืองสวีตลอดมา ต่อมา พ.ศ.2518 นายประมวล กุลมาตย์ ส.ส.เมืองชุมพร ได้เสนอ เรื่องต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอยก ต.ตะโก ต.ปากตะโก และ ต.ทุ่งตะไคร ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอทุ่งตะโก จึงได้ประกาศในราชกิจจนุเบกษาฉบับพิเศษ เล่มที่ 93 ตอนที่ 106 เรื่องแบ่งท้องที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร และตั้งเป็นกิ่งอำเภอทุ่งตะโก ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2519 ในสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2534

คำขวัญอำเภอทุ่งตะโก
   หาดทรายงาม
น้ำตกสวย 
รวยผลไม้
ไหว้เสด็จในกรมฯ 
ชมพระธาตุมุจลินทร์

ที่ตั้งและอาณาเขต 
   อำเภอทุ่งตะโกตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดชุมพร ห่างจากตัวจังหวัด 49 กิโลเมตร ตั้งอยู่เลขที่ 89 หมู่1 ตำบลทุ่งตะไคร อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ระหว่างหลักกิเมตรที่ 47 - 48 ริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 291,785 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอสวี อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

สภาพทางภูมิศาสตร์
   ลักษณะพื้นที่ราบเชิงเขาทางทิศตะวันตก ส่วนทิศตะวันออกเป็นที่ราบชายฝั่ง ติดกับทะเลอ่าวไทย       มีชายหาดยาว 15 กิโลเมตร พื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผลไม้ และทำการประมงชายฝั่ง

การปกครอง
   อำเภอทุ่งตะโกแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 4 ตำบล 35 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลปากตะโก 5 หมู่บ้าน
ตำบลทุ่งตะไคร้ 8 หมู่บ้าน
ตำบลตะโก 14 หมู่บ้าน
ตำบลช่องไม้แก้ว 8 หมู่บ้าน

อำเภอหลังสวน

ประวัติความเป็นมา
   อำเภอหลังสวนเป็นเมืองเก่าแก่แห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ คำว่า “หลังสวน” สันนิษฐานว่าเพราะเป็นเมืองที่มีผลไม้มาก ปัจจุบันที่นี่ยังคงเป็นเมืองผลไม้ มีทั้งสวนเงาะ ทุเรียน ลางสาด มังคุด หลังสวนเป็นอำเภอใหญ่รองมาจากอำเภอเมือง หลังสวน เคยเป็นเมืองค้าขายที่มีความเจริญอย่างสุดขีด ในยุคที่ผู้คนยังต้องพึ่งพาอาศัยรถไฟและเรือ ภาพในอดีตของหลังสวนก็คือการที่ชาวสวนเอาผลไม้ใส่เข่ง ปิดฝาส่งขึ้นโบกี้รถไฟส่งมายังกรุงเทพฯ ทุกวันนี้หลังสวนเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่ใครๆ ก็อยากมาเยือน เรือนไม้บ้านเฟี้ยมอายุร่วมร้อยปีที่เรียงรายอยู่บนถนนหลังสวน ซาลาเปาในลังถึงไม้ไผ่แบบโบราณในร้านน้ำชา ที่เป็นอาหารมื้อเช้ากลายเป็นเสน่ห์ที่แสนคลาสสิค
   ในปี พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ได้จัดการปกครองหัวเมืองเป็นแบบมณฑล เมืองหลังสวนเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลชุมพรมีฐานะเป็นเมืองจัตวา ในปี พ.ศ.2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองหลังสวนเป็นเขตปกครองจังหวัดเป็นจังหวัดหลังสวน มีหน่วยงานของทางราชการเช่นเดียวกับที่จังหวัดอื่น เช่น ศาลจังหวัดหลังสวนที่ทำการอัยการประจำศาลจังหวัดหลังสวน ฯลฯ มาจนทุกวันนี้
   เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบจังหวัดหลังสวน มีฐานะเป็นอำเภอหลังสวน ขึ้นตรงต่อจังหวัดชุมพร
   เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เปลี่ยนอำเภอขันเงิน เป็นอำเภอหลังสวน มาจนถึงปัจจุบัน เหตุผลที่เปลี่ยนชื่อใหม่เพราะประชาชนนิยมเรียกกัน เป็นส่วนมาก และเพื่อรักษาประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นเมืองมาแต่โบราณกาลไว้ ส่วนขันเงินเป็นตำบลหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอหลังสวน ในปี พ.ศ.2476 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาล และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลหลังสวนเมื่อ พ.ศ.2483 ตั้งอยู่ที่ตำบลหลังสวนริมฝั่งแม่น้ำหลังสวน ด้านทิศตะวันตก มีเนื้อที่ 1.5 ตารางกิโลเมตร เป็น 10.12 ตารางกิโลเมตร
   เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลหลังสวน เป็นเทศบาลเมืองหลังสวน โดยมีแนวเขตและแผนที่เดิมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลและพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลง เขตเทศบาล
   ต่อมาเพื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2547 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลขันเงินรวมกับเทศบาลเมืองหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จากเดิมเนื้อที่ 10.12 ตารางกิโลเมตร เป็น 16.73 ตารางกิโลเมตร 

คำขวัญอำเภอหลังสวน
   หลังสวนเมืองผลไม้ 
พายเรือแข่ง
แหล่งทุเรียนกวน 
สวนสมเด็จ

ที่ตั้งและอาณาเขต 
   อำเภอหลังสวนมีขนาดพื้นที่ประมาณ 937 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

สภาพภูมิศาสตร์
   พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและเขา มีที่ราบตามเชิงเขาและริมฝั่งแม่น้ำที่ราบกว้างใหญ่บริเวณอื่นมีน้อยแห่ง ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เหมาแก่การเพาะปลูก เช่น ทำสวนผลไม้และยางพารา ทำนามีน้อย ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในอำเภอ แต่ปลูกผลไม้ยืนต้นมากบริเวณที่เป็นป่าและเขาอุดมไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ

การปกครอง
   อำเภอหลังสวนแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 11 ตำบล 141 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลบางน้ำจืด 14 หมู่บ้าน
ตำบลท่ามะพลา 9 หมู่บ้าน
ตำบลปากน้ำ 6 หมู่บ้าน
ตำบลนาขา 13 หมู่บ้าน
ตำบลพ้อแดง 10 หมู่บ้าน
ตำบลนาพญา 19 หมู่บ้าน
ตำบลแหลมทราย 12 หมู่บ้าน
ตำบลบ้านควน 18หมู่บ้าน
ตำบลวังตะกอ 13 หมู่บ้าน
ตำบลหาดยาย 13หมู่บ้าน
ตำบลบางมะพร้าว 14 หมู่บ้าน

อำเภอพะโต๊ะ

ประวัติความเป็นมา

   เมืองพะโต๊ะ เป็นเมืองโบราณในอาณาจักรศรีวิชัย มีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุของชาวจูเกาะ พ.ศ.1766 และในพงศาวดารจีนราชวงศ์สุง พ.ศ.1503 - 1822 ในชื่อเมืองปะตา มีสินค้าสำคัญได้แก่ หวาย ยางกิโนแดง ไม้ดำหอม หมาก และมะพร้าว
   พ.ศ.2399 พระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เจ้าเมืองหลังสวนยกฐานะบ้านพะโต๊ะเป็นหัวเมืองใย มีขุนภักดีราษฎร์ (ใย ภักดี) เป็นเจ้าเมือง มีหน้าที่เก็บภาษีอากร คุมคดีแพ่งและอาญา ดูแลทุกข์สุขของประชาชน
   พ.ศ.2422 ได้มีการจัดทำเหมืองแร่ดีบุกขึ้นที่บ้านปากทรง ทำให้บ้านดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากในสมัยนั้น และในปี 2460 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกท้องที่เมืองพะโต๊ะขึ้นเป็นอำเภอ ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ขึ้นกับจังหวัดหลังสวน โดยมีหลวงแพ่ง ศุภการ เป็นนายอำเภอคนแรก
   พ.ศ.2476 เกิดกบฏบวรเดช สิบเอก ม.จ.บัณฑิต เสนีย์วงศ์ กับพวกรวม 4 คนได้หลบหนีมาอยู่ในพื้นที่พะโต๊ะ และก่อคดีอาญายิงพวกเดียวกันตาย จึงหลบหนีเข้าป่าเปลี่ยนชื่อเป็น เสือวิไล มีอิทธิพลอยู่ประมาณ 6 ปีเศษจึงถูกยิงเสียชีวิต
   พ.ศ.2480 เกิดโรคไข้น้ำระบาด ชาวพะโต๊ะได้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลืออยู่ได้พากันอพยพออกไปอยู่ที่อื่น จนเหลือประชากรน้อย ในที่สุด
  พ.ศ. 2485 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอพะโต๊ะขึ้นการปกครองกับอำเภอหลังสวนแทน
   ในปี 2506 ได้มีการก่อสร้างถนนสายราชกรูด-หลังสวน ผ่านกิ่งอำเภอพะโต๊ะ และ พ.ศ.2510 ได้มีการก่อสร้างโรงจักรไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้กิ่งอำเภอพะโต๊ะเริ่มมีไฟฟ้าใช้ระหว่างเวลา 18.00-24.00 น
   พ.ศ.2522 กิ่งอำเภอพะโต๊ะตกอยู่ในเขตแทรกซึมของ ผกค.ได้มีการนำกำลังเข้าโจมตี และเผา สภ.กิ่ง อำเภอพะโต๊ะถึง 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2523 และวันที่ 4 เม.ย.2524 และในปีถัดมา 2525 ผู้คนจากทุกสารทิศได้เริ่มทยอยหลั่งไหลเข้ามาจับจองผืนป่า ปลูกสวนผลไม้ ตั้งรกรากทำมาหากิน ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนทำให้อาชีพการทำสวนผลไม้ กลายเป็นอาชีพหลักของคนพะโต๊ะไปในที่สุด
   วันที่ 19 มิ.ย.2534 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอพะโต๊ะอีกครั้งหนึ่ง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอน 107 หน้า 29 มีฐานะเป็นอำเภอชั้น 4 โดยมีว่าที่ ร.ต.ชยันต์ นาคเพชร เป็นนายอำเภอคนแรก
   ในปี 2536 นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล นายอำเภอได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลล่องแพขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในปี 2541 เทศกาลดังกล่าวได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยว ของ ท.ท.ท. และได้กลายเป็นเทศกาลสำคัญของอำเภอพะโต๊ะมาจนถึงปัจจุบัน
   ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 สมัยนายอำนวย จงแจ่มใส เป็นนายอำเภอได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ริมถนนสายราชกรูด - หลังสวน เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบัน
   คำว่า “พะโต๊ะ” มีที่มาจากคำว่า ปะตะ เป็นภาษาบาลี แปลว่า ตก หรือ เหว ทั้งนี้สืบเนื่องจากภูมิประเทศทั้งอำเภอกว่า 6 แสนไร่ เป็นภูเขาสูง และป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ มีน้ำตกมากมายหลายแห่ง อีกที่มาหนึ่งให้ความหมายว่า พะโต๊ะ มาจากชื่อเรียก ปากคลองโต๊ะ ซึ่งเป็นคลองที่ไหลมาจากภูเขาโต๊ะลงสู่แม่น้ำหลังสวน แต่ภาษาถิ่นเรียกสั้นเป็น ปากโต๊ะ และปักโต๊ะ และกลายเป็น พะโต๊ะ ในที่สุด
   อำเภอพะโต๊ะเป็นอำเภอที่ได้ฉายาว่า “เมือง 3 ทะเล” คือ กลางคืนดูทะเลดาว ตื่นเช้าดูทะเลหมอก พอแดดออกดูทะเลป่า

คำขวัญอำเภอพะโต๊ะ
   ดินแดนแห่งภูเขาเขียว
เที่ยวล่องแพ 
แลหมอกปก
น้ำตกงาม 
ลือนามผลไม้

ที่ตั้งและอาณาเขต 
   อำเภอพะโต๊ะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชุมพรในทั้งหมด 8 อำเภอ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดชุมพร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 114 กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 564 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ ถนนเพชรเกษม อำเภอพะโต๊ะ มีพื้นที่ทั้งหมด 635,625 ไร่ หรือประมาณ 1,017 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ร้อยละ 16.95 มีเนื้อที่มากเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดชุมพร
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

สภาพภูมิศาสตร์
   อำเภอพะโต๊ะเป็นอำเภอในสองอำเภอของจังหวัดชุมพรที่ไม่มีพรมแดนติดต่อกับทะเล สภาพทางภูมิประเทศเป็นที่ภูเขาสูง สลับกับที่ราบประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีภูเขาที่ต่อเนื่องเป็นกระดูกสันหลังของคาบสมุทรมลายู ที่เป็นแนวเทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาภูเก็ตและเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูที่เป็นส่วนระหว่างทะเลอันดามัน, มหาสมุทรอินเดีย, อ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก

การปกครอง
   อำเภอพะโต๊ะแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 4 ตำบล 36 หมู่บ้าน ได้แก่
ตำบลปังหวาน 9 หมู่บ้าน 
ตำบลปากทรง 9 หมู่บ้าน
ตำบลพระรักษ์ 9 หมู่บ้าน
ตำบลปากทรง 9 หมู่บ้าน

อำเภอละแม

ประวัติความเป็นมา
   เดิมขึ้นกับอำเภอขันเงิน จังหวัดหลังสวน เป็นชุมชนขนาดเล็ก ในทะเล มี กุ้ง หอย ปลา ปู ชุกชุมมาก เมื่อ พ.ศ. 2435 จังหวัดหลังสวนยุบเป็น อำเภอขึ้นต่อจังหวัดชุมพร แต่อำเภอละแม ก็ยังขึ้นอยู่กับอำเภอหลังสวนและต้องติดต่อราชการที่อำเภอหลังสวนตามเดิม เนื่องจากประชากรตำบลละแม มีจำนวนมาก และตำบลขนาดใหญ่ การเดินทางไปติดต่อราชการที่หลังสวนไปสะดวก ต่อมาเมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม 2514 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอละแม ต่อมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2520 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกฐานะเป็นอำเภอละแม
   คำว่า “ละแม” สันนิษฐานว่าเกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งมีภูเขาลูกหนึ่งอยู่ด้านตะวันออกของสถานีรถไฟละแมรูปร่างเหมือนหนูหมอบอยู่ เมื่อมองจากด้านสถานีรถไฟหรือมองจากทะเลก็ยังเป็นรูปหนูหมอบอยู่ พจนานุกรมเขมรมีคำว่า “แลมห์” แปลว่า หนูผี เป็นคำเขมรโบราณและภาษาเขมรปัจจุบันยังใช้คำนี้อยู่ จึงเป็นไปได้ว่าก่อนที่คนไทยจะเคลื่อนย้ายลงมาจากทางเหนือ คนท้องถิ่นบริเวณนี้เป็นขอม พูดภาษาขอมหรือเขมรเรียกชื่อบ้านตามรูปภูเขาที่เห็นว่า “แลมห์” ต่อมาจากเสียงเพี้ยนเป็นละแม
   ชุมชุนแรกตั้งของตำบลละแม คือชุมชนบ้านปากน้ำละแม เพราะว่าอยู่ติดกับ ชายทะเล อ่าวไทย ในอดีตนั้นใช้ทางน้ำเป็นเส้นทางในการคมนาคม จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ของ ชาวปากน้ำละแมว่าคนท้องถิ่นเดิมนั้นมีไม่มากนัก แต่มีคนที่มาถิ่นอื่นที่เข้ามาตั้งรกรากโดยมีอาชีพค้าขาย และทำการประมงปากน้ำละแม เป็นจุดขนถ่ายสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะเกลือ ซึ่งบรรทุกมากับเรือสำเภาจาก จังหวัดเพชรบุรีนำมาขายที่หัวเมืองชายฝั่ง เมื่อปากน้ำละแมก็จะบรรทุกไม้หลา โอน ถ่าน และของป่ากลับไปขายที่แม่กลอง ประมาณกันว่า ปากน้ำละแมได้ก่อตั้งมาก่อน พ.ศ. 2452 ยังมีการปกครองเป็นกลุ่มบ้าน มีผู้ปกครองคนแรกชื่อ นาย จรูญ เป็นคนมาจากภาคกลาง ซึ่งในขณะนั้นยังขึ้นอยู่กับอำเภอหลังสวน มีกำนันอั้น พลารชุน เป็นผู้ปกครอง จากนั้นในปี พ.ศ. 2513 ได้มีการแบ่งแยกหมู่ บ้านออกเป็น 16 หมู่บ้าน และได้มีการแบ่งแยกตำบลเป็น 3 ตำบล ได้แก่ ตำบล ละแม (เดิม) ตำบลทุ่งหลวง ตำบลสวนแตง และได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอละแม เมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 มีหัวหน้ากิ่งอำเภอคนแรก คือ นายวิรัติ วงศ์วโรทัย จวบจนวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2520 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยก ฐานะเป็นอำเภอละแม 

คำขวัญอำเภอละแม
   หาดทรายสวยทะเลใส
ท่องไพลน้ำตกจำปูน
ศูนย์ผลิตภัณฑ์กล้วยหอมทอง
ลองอาบน้ำแร่ 
แลถ้ำเขาพลูดูแข่งเรือใบโบราณ
แหล่งวิทยาการแม่โจ้

ที่ตั้งและอาณาเขต 
   อำเภอละแม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดชุมพร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 339.98 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 212,500 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.30 ของเนื้อที่จังหวัดชุมพร มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอหลังสวน และอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

สภาพภูมิศาสตร์
   มีลักษณะลาดเอียงเป็นรูปยาวจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออก โดยแบ่งลักษณะทาง กายภาพออกเป็น 3 ส่วน คือ ด้านตะวันตกสุดเป็นป่าและเทือกเขาสูงชั้นสลับซับซ้อนทอดตัวจากเหนือสู่ใต้ เป็นที่ตั้งของป่าสงวนแห่งชาติป่าละแม และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจำปูน (ควนแม่ยายหม่อน) ซึ่งเป็นแหล่ง ต้นน้ำสำคัญของอำเภอ 3 สาย คือ คลองละแม คลองเสร็จ และคลองดวด พื้นที่ลาดต่ำมาทางทิศตะวันออก สู่ตอนกลางของอำเภอซึ่งเป็นที่ราบสูงมีเนินเขาสลับประปราย แล้วต่อเนื่องมายังด้านตะวันออกสุด ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม จนจรดที่ราบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีความยาวชายฝั่งประมาณ 15 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญ 3 สาย ได้แก่ คลองละแม คลองเสร็จและ คลองดวด

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก

อาหารทะเล



   ชุมพรขึ้นชื่อทั้งอาหารทะเลสดและแห้ง เพราะที่นี่มีท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีร้านอาหารทะเลสดให้เลือกรับประทานมากมาย หรือหากนักท่องเที่ยวต้องการซื้อของฝากกลับบ้าน ที่ชุมพรก็มีอาหารทะเลแปรรูปมากมายให้เลือกซื้อ เช่นกะปิ น้ำปลากะตัก ปลาหมึกแห้ง ปลาเค็ม แหล่งซื้ออาหารทะเลที่สำคัญๆของชุมพรและไม่ไกลจากตัวเมืองมากนักก็คือที่ปาก น้ำชุมพร ซึ่งเป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน ที่นี่เป็นแหล่งขายอาหารทะเลแปรรูปที่ชาวบ้านผลิตเอง ซึ่งเหมาะแก่การซื้อเป็นของฝากอย่างยิ่ง

รังนก


   รังนกนางแอ่นของจังหวัดชุมพรเป็นรังนกที่ได้รับการยอมรับจากผู้รักสุขภาพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ชาวจีน ฮ่องกง หรือใต้หวัน คนนิยมรับประทานรังนกชุมพรกันเพราะว่าเป็นรังนกที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทาง โภชนาการ โดยสามารถหาซื้อรังนกชนิดต่าง หรือ รังนกปรุงสำเร็จได้ที่ร้านชุมพรรังนก เพราะที่นี่คือผู้ที่ได้รับสัมปทานรังนกนางแอ่นของ จังหวัดชุมพร ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย เป็นรังนกแท้ 100% ที่คุณจะมั่นใจได้เลยว่ามีคุณค่าทางอาหารเสริมที่ครบถ้วน เหมาะอย่างยิ่งในการซื้อไปเป็นของฝาก

ผลไม้


   ชุมพรเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการเป็นเมืองผลไม้นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน หลังสวน เงาะ ลางสาด มังคุด สับปะรดสวี ส้มโอพันธุ์เจ้าเสวย มะพร้าว ฯลฯ โดยเฉพาะ กล้วยเล็บมือนางที่เป็นของฝากยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวแทบทุกคนต้อง ซื้อกลับไปเป็นของฝากทั้งในรูปของกล้วยสดสีเหลืองน่ารับประทานและรวมไปถึง กล้วยแปรรูปประเภทต่างๆ ดังนั้น จังหวัดชุมพรจึงเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ใครก็ตามที่ชื่นชอบในผลไม้จะ ไม่ผิดหวังที่ได้มาเที่ยวชุมพร และได้ชิมผลไม้สดๆจากสวน โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปีที่จังหวัดชุมพรจะจัดงาน “เทศกาลผลไม้ชุมพร - ท่องเที่ยวชุมชน - กิ่งกาชาด” เพื่อเป็นการเผลแพร่ผลผลิตทางการเกษตร ที่สำคัญของจังหวัด ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น

กาแฟสด


   ชุมพรเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย คนที่ชื่นชอบกาแฟจึงไม่ควรพลาดที่จะไปเที่ยวไร่กาแฟที่เขาทะลุ เพราะที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความกลมกล่อมในรสชาติของกาแฟมาเป็นเวลานาน และได้รับการยอมรับจากคอกาแฟว่าเป็นกาแฟที่มีรสชาติดี เข้มข้น หอมอร่อย เหมาะที่จะซื้อกลับไปเป็นของฝาก หรือหากใครอยากดื่มกาแฟสดๆ ก็มีขายอยู่ตามปั๊มน้ำมันหลายแห่งบริเวณถนนเส้นหลัก

เทศกาล งานประเพณี

งานวิ่งแหวกทะเลสู่เกาะพิทักษ์



   การแข่งขันวิ่งแหวกทะเลสู่เกาะพิทักษ์ หรือหลังสวนมินิมาราธอนนั้นจะจัดการแข่งขันประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลลดลงจนสามารถเดินข้ามเกาะได้ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร โดยเริ่มปล่อยตัวจากปากน้ำหลังสวน (เรือจักรีนฤเบศร์จำลอง) ไปตามเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลถึงท่าเรือข้ามไปเกาะพิทักษ์ วิ่งลุยน้ำข้ามทะเลระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เข้าเส้นชัยบนเกาะพิทักษ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น “หนึ่งเดียวในสยาม” ของการแข่งขันมินิมาราธอน

งานโลกทะเลชุมพร


   จัดขึ้นในระหว่างกลางเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดชุมพร ตลอดจนกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยในงานมีกิจกรรมที่สำคัญคือ การแข่งขันตกปลา การประกวดภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยว มหรสพต่างๆ และการแข่งขันวิ่งมาราธอน

เทศกาลล่องแพพะโต๊ะ


   มีการจัดงานเทศกาลล่องแพพะโต๊ะในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ มีกิจกรรมล่องแพเชิงอนุรักษ์ เปิดเมืองกินฟรี จัดนิทรรศการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผืนป่าในเขตอำเภอพะโต๊ะเป็นแหล่งต้นน้ำหลายสายที่ไหลคดเคี้ยวมาตามขุนเขา สองฝั่งลำน้ำเป็นป่าดงดิบและสวนผลไม้ บางช่วงเป็นแก่งน้ำขนาดใหญ่จึงมีการจัดกิจกรรมผจญภัยในคลองพะโต๊ะตลอดทั้ง ปี โดยเริ่มตั้งแต่คลองต้นน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ สามารถพบเห็นสัตว์ป่าที่น่าสนใจ ได้แก่ ค่างแว่นถิ่นใต้ ลิง นกเงือก หากินอย่างอิสระในป่าธรรมชาติริมคลอง ผ่านมาอีกช่วงหนึ่งจะเป็นสวนทุเรียน สวนกาแฟ และสวนมังคุด หากชอบเดินป่ายังมีการจัดเดินป่า ขึ้นไปชมป่าต้นน้ำและพักค้างแรมแบบแคมปิ้ง หรือขี่ช้างเที่ยวป่า ชมสวน

ประเพณีขึ้นถ้ำรับร่อ


   นับแต่โบราณกาลชาวอำเภอท่าแซะและอำเภอใกล้เคียงเชื่อกันว่าวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันจบปีจบเดือน หรือที่เรียกว่า “วันตรุษจบปีจบเดือน” และเป็นการรวมญาติชาวบ้านท้องถิ่นที่ไปทำงานและอาศัยอยู่ที่อื่นได้กลับมาเยี่ยมบ้าน มาปิดทองพระคู่บ้านคู่เมือง เชื่อว่าหากได้ทำบุญปิดทองพระหลักเมืองถือว่าได้กุศลอย่างใหญ่หลวงและได้แก้บนปีด้วยการปิดทองจุดลูกประทัด เพื่อขอบคุณพระหลักเมืองที่ได้คุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข 
   การทำบุญขึ้นถ้ำ รับร่อ ในคืนแรม 13 ค่ำ เดือน 5 บริเวณวัดถ้ำรับร่อมีมหรสพแสดงหลายอย่างตอนเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เป็นประเพณีขึ้นถ้ำรับร่อ เพื่อนมัสการและปิดทองพระหลักเมือง ในวันเดียวกันเวลากลางวัน บริเวณหน้าถ้ำจะมีการละเล่นต่าง ๆ เช่น มโนราห์ มวย ลิเก รำวง ฯลฯ เมื่อหมดงานประเพณีแล้วชาวบ้านก็เริ่มที่หว่านกล้าลงมือทำไร่ทำนาของปีต่อไป นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับชีวิตใหม่ในปีถัดไป ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าเมืองชุมพรจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ประเพณีนี้ยังคงดำรงอยู่

งานเทิดพระเกียรติเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และงานกาชาด


   กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 27 ธันวาคมของทุกปี โดยกำหนดสถานที่ภายในตัวเมืองชุมพร มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเยรติพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาของทหารเรือไทยซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวชุมพรและประชาชน ทั่วไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและหารายได้ช่วยเหลือสาธารณกุศล มีกิจกรรมสำคัญเช่น พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากร เกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งจัดในช่วงของการจัดงานวันแรกคือ 19 ธันวาคม การจัดขบวนแห่เทิดพระเกียรติฯ นิทรรศการพระราชประวัติฯ การแข่งขันลิงเก็บมะพร้าว การแสดงศิลปะพื้นเมือง และการแสดงมหรสพต่างๆมากมาย

งานวันผลไม้หลังสวน


   งานวันผลไม้หลังสวน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีประมาณระหว่างวันที่ 12 - 18 สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลที่มีผลไม้มาก ได้แก่ เงาะ ทุเรียน สะละ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่อำเภอหลังสวนได้มีการจัดขึ้นเพื่อให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาเที่ยวจังหวัดชุมพร และเพื่อประชาสัมพันธ์ตลาดผลไม้อันขึ้นชื่อที่สำคัญของจังหวัดชุมพรให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งอำเภอหลังสวนเองได้มีตลาดผลไม้ที่ใหญ่อยู่ในตัวอำเภอหลังสวนและสะดวกในการหาซื้อ ซึ่งจะจัดในอำเภอหลังสวนโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 41 รวมระยะทางประมาณ 76 กิโลเมตร ซึ่งจะมีกิจกรรมเปิดร้านขายผลไม้ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกชิมเลือกชมผลไม้หรือซื้อผลไม้เป็นของฝาก

เทศกาลดูเหยี่ยวอพยพแห่งประเทศไทย


   ช่วงเดือนตุลาคมจะมีกิจกรรมดูเหยี่ยวอพยพที่จังหวัดชุมพร ซึ่งจังหวัดชุมพรมีชายฝั่ง เป็นรูปคอขวดที่นกจำนวนนับหมื่นนับแสนตัวจากหลาย ทิศทางต้องพากันรวมกลุ่มกันเดินทางไกลอพยพผ่านเส้นทางเหนือภาคพื้นดินของ ชุมพรและผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือไปถึงออสเตรเลีย กิจกรรมที่น่าสนใจได้แก่ ชมการบินอพยพของเหยี่ยว ร่วมกันนับจำนวนเหยี่ยวที่อพยพในแต่ละวัน ชมนิทรรศการนกล่าเหยื่อและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ จังหวัดชุมพร 

งานแห่พระแข่งเรือ (การขึ้นโขนชิงธง)


   งานประเพณีแห่พระแข่งเรืออำเภอหลังสวน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านานก่อให้เกิดสามัคคีในกลุ่มชนและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11ของทุกปี วันดังกล่าวถือเป็นวันพระเสด็จ ชาวบ้านจะพายเรือลากพระจากวัดต่างๆไปที่วัดด่านประชากร ในงานนี้มีการตักบาตรทำบุญทอดกฐินเมื่อเสร็จงานแล้วก็มีการแข่งเรือกัน เมื่อถึงวันเวลาแข่งเรือจะมีฝีพายมากมายแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณหลากสีสันสวยงามร้องเพลงเรือเป็นที่สนุกสนาน ส่วนการแข่งขันเรือจะจับคู่แข่งกันผู้ชนะก็ได้ผ้าสีไปคล้องหัวเรือเป็นรางวัล ลำไหนได้ผ้าสีมากก็เป็นลำที่ชนะมาหลายครั้ง เมื่อเลิกพายแล้วก็จะนำผ้าแถบเหล่านั้นไปเย็บติดเป็นผ้าม่านถวายวัดต่อไป ประเพณีงานแห่พระแข่งเรือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าการขึ้นโขนชิงธง จะจัดขึ้นที่บริเวณแม่น้ำหลังสวนทุกปี ซึ่งการเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 41 จากตัวเมืองชุมพรไปถึงอำเภอหลังสวนรวมระยะทางประมาณ 76 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยวใน อำเภอละแม

บ่อน้ำร้อนถ้ำเขาพลู


   บ่อน้ำร้อนถ้ำเขาพลู แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเฉพาะบริเวณถ้ำเขาพลู สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ภูเขาหินปูและมีบ่อน้ำร้อน ซึ่งเป็นตาน้ำที่ผุดขึ้นรอบๆภูเขา ซึ่งบริเวณบ่อน้ำร้อนถ้ำเขาพลู โดยรอบเต็มไปด้วยไม้ป่านานาพันธุ์ บ่อน้ำร้อนถ้ำเขาพลู แห่งนี้มีทั้ง หมด 3 บ่อ คือ บ่อเอื้ออารีธารทิพย์ บ่อพฤกษาชลธาร และบ่ออมฤตธารา แต่ละบ่อ มีน้ำแร่ร้อนผุดมาจากดิน อุณหภูมิระหว่าง 55 - 56 องศาเซลเซียส ซึ่งช่วยรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคผิวหนัง ปัจจุบันมีการปรับ ปรุงบ่อน้ำร้อนถ้ำเขาพลู โดยสร้างอ่างแช่น้ำร้อนเพื่อสุขภาพ เพื่อบริการให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย

หาดตะวันฉาย


   หาดตะวันฉายเป็นชายหาดขนาดใหญ่ที่สวยที่สุด และเต็มไปด้วยต้นมะพร้าว ตลอดริมทางซึ่งขนานไปกับหาดทราย หาดตะวันฉายเหมาะสำหรับพักผ่อนเป็นชายหาดที่เงียบสงบ และบริเวณหาดตะวันฉายยังสามารถชมวิถีชีวิตของชาวบ้านชาวประมง ของอำเภอละแม และสามารถหาซื้ออาหารทะเลสดๆได้บริเวณหาดตะวันฉายและอีกหนึ่งสิ่งที่พลาดไม่ได้ คือ ชมความงามของหาดตะวันฉายยามเช้าซึ่งสวยงามและหาดูได้ยาก

น้ำตกจำปูน


   น้ำตกจำปูนเป็นต้นน้ำในเขตพื้นที่ป่าสงวนป่า น้ำตกจำปูนเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาวละแม ซึ่งเกิดจากเทือกเขาในเขต อ.พะโต๊ะ ไหลผ่านตำบลต่างๆ ในเขตอำเภอละแม โดยมีคลองเสร็จไหลมาบรรจบกับคลองละแม และไหลลงสู่ทะเลในเขตตำบลละแม และน้ำตกจำปูนยังเป็นแหล่งศึกษาพืชพรรณไม้ทางธรรมชาติเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณที่หลากหลาย อีกทั้งน้ำตกจำปูนยังเหมาะสำหรับการพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

สถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอพะโต๊ะ

ล่องแพพะโต๊ะ (หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ)


   ล่องแพพะโต๊ะ จะเริ่มตั้งแต่คลองต้นน้ำพะโต๊ะซึ่งอยู่ผืนป่าในเขตอ.พะโต๊ะ ที่ไหลคดเคี้ยวมาตามขุนเขาและสวนผลไม้ระหว่างล่องแพจะพบเห็นสัตว์ป่านานาชนิดที่ออกหากินอย่างอิสระในป่าธรรมชาติริมคลอง ผ่านมาอีกช่วงหนึ่งเป็นสวนผลไม้ต่างๆ เช่น สวนทุเรียนสวนกาแฟและสวนมังคุด แวะชมและชิมผลไม้สดจากสวนได้อีกด้วย

แก่งบกไฟ


   แก่งบกไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะแก่งกลางลำคลองบกไฟ ซึ่งมีโขดหินน้อยใหญ่ระเกะระกะผุดขึ้นกลางลำน้ำเสียงสายน้ำกระทบโขดหินท่ามกลางความเงียบสงบของป่าเขา แก่งบกไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ สามารถสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติได้อย่างไม่รู้ลืม 

น้ำตกเหวโหลม


   น้ำตกเหวโหลม เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชุมพร เส้นทางเดินเท้าเป็นขั้นบันไดต่อไป 200 เมตร ผ่านต้นน้ำคลองพะโต๊ะก็จะถึงตัวน้ำตกเหวโหลม เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลจากหน้าผา สูง 80 เมตร ในช่วงฤดูฝนน้ำตกจะไหลแรง เมื่อสายน้ำตกกระทบกับโขดหินจะเกิดละอองน้ำฟุ้งไปทั่วบริเวณ พร้อมแสงแดดส่องกระทบกับสายน้ำ มองเห็นเป็นสายรุ้ง สีสันสวยงาม 

โฮมสเตย์บ้านคลองเรือ


   โฮมสเตย์บ้านคลองเรือ จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าสนใจ เช่น เดินป่าศึกษาธรรมชาติเพื่อไปพบกับดอกบัวผุด มีอยู่ในไม่กี่แห่งในประเทศไทย ชมสวนผลไม้ ชมไร่กาแฟ ล่องแพไม้ไผ่ โฮมสเตย์บ้านคลองเรือนักท่องเที่ยวจะได้พักอาศัยกับชาวบ้านในโฮมสเตย์ อาบน้ำใสๆในลำธารไหลมาจากต้นน้ำบนยอดเขาสูง ลิ้มรสอาหารเมนูพื้นบ้าน สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย

สถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอหลังสวน

สุสานหอยล้านปี


   สุสานหอยล้านปีของอำเภอหลังสวน มีความยาวของหาดประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งสุสานหอยล้านปีแห่งนี้เกิดจากการรวมตัวกันของหอยกลายเป็นแผ่นหินที่แข็งเป็นซากฟอสซิล จึงทำให้เกิดเป็นสุสานหอย กระจัดกระจายภายในบริเวณแห่งนี้

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ชุมพร


     สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ชุมพร ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลท่ามะพลา ห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ     75 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกอำเภอหลังสวน (ฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าอำเภอหลังสวน) เข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สวยงาม ลักษณะเป็นภูเขาริมแม่น้ำ เชิงเขาตกแต่งเป็นสวนเป็นสวนไม้ประดับ และประดิษฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถัดไปอีกไม่ไกลจะถึง ถ้ำเขาเงิน บนผนังถ้ำสลักปรมาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุปีว่า “108” ซึ่งหมายถึงปีที่เสด็จประพาสมลายู เมื่อ พ.ศ.2432 และยังได้โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้บริเวณหน้าถ้ำ ผนังถ้ำมีพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ประดิษฐาน ซึ่งสถานที่แห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส และทรงโปรดเกล้าให้สร้างเจดีย์ขึ้นที่หน้าถ้ำซึ่งเป็นผาเอนลงสู่แม่น้ำเพื่อเป็นที่ระลึก และเพื่อให้เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชน

น้ำตกห้วยเหมือง


   น้ำตกห้วยเหมืองเป็นน้ำตกขนาดกลาง ซึ่งน้ำที่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันมีความงดงามมาก เปรียบประดุจพลิ้วของแพรไหม น้ำใสไหลเย็น และคลายความร้อนจากการเดินทางของท่านได้เป็นอย่างดีและหายจากความเหน็ดเหนื่อยได้เป็นปลิดทิ้ง ด้วยมนเสน่ห์

วัดแหลมสน


   วัดแหลมสนมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง มีนามว่า “พระพุทธชัยมงคลมุนี” สร้างเมื่อพ.ศ.2546 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และรูปปั้นหลวงปู่นาค เกจิอาจารย์ ชื่อดัง วัดแหลมสนยังเป็นที่เคารพและสักการบูชาของชาวบ้านอำเภอหลังสวนอีกด้วย

เกาะพิทักษ์


    เกาะพิทักษ์ เป็นเกาะขนาดเล็ก ห่างจากที่ว่าการอำเภอหลังสวนประมาณ 25 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่ง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาจากฝั่งไปที่ เกาะพิทักษ์ ประมาณ 10 นาที ชาวบ้านบนเกาะพิทักษ์ได้ร่วมกันจัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ที่ มีแนวทางการพัฒนาในแบบฉบับเศรษฐกิจพอเพียง เน้นความสงบเรียบง่าย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี น้ำทะเลจะลดลงจนสามารถเดินจากฝั่งข้ามไปยังเกาะพิทักษ์ได้แบบสบายๆ บริเวณเกาะมีโขดหินสวยงาม น้ำทะเลใส สามารถเล่นน้ำได้และมีหมู่บ้านชาวประมงกระจายอยู่รอบเกาะ ทางทิศตะวันออกมีหาดทรายขนาดเล็กๆ ด้านหลังเกาะมีจุดชมวิวสูงประมาณ 200 เมตรซึ่งสามารถมองทัศนียภาพที่สวยงามของเกาะต่างๆที่อยู่รอบ ๆ ได้

น้ำตกหินช้างสี


   น้ำตกหินช้างสี เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลังสวน มีความสูงของผาน้ำตกประมาณ 50 เมตร ด้านบนสุดของน้ำตกหินช้างสีจะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้น้ำตกหินช้างสี มีน้ำไหลตกลงมาตลอดทั้งปี นับได้ว่าเป็นน้ำตกที่อุดมสมบูรณ์เลยทีเดียว

ถ้ำเขาเงิน


   ภายในถ้ำเขาเงิน เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ซึ้งมีลักษณะคล้ายกระโจมที่มีปล่องทะลุถึงด้านบน บริเวณหน้าถ้ำมีเจดีย์วัดถ้ำเขาเงิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้ สร้างขึ้นเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองหลังสวน เมื่อ พ.ศ.2472 และให้เปลี่ยนนามถ้ำใหม่เรียกว่า “วัดถ้ำเขาเงิน” และโปรดเกล้าฯ ให้สลักพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ซึ่งเดิมมีแต่ฐานพระเจดีย์อยู่บนโขดหินหน้าถ้ำ

ตลาดผลไม้พ่อตาเขาม่วง


   ตลาดผลไม้พ่อตาเขาม่วง เป็นตลาดที่จัดจำหน่ายผลไม้ท้องถิ่นทั่วไป และสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอหลังสวน อีกทั้งตลาดผลไม้พ่อตาเขาม่วง ยังมีการเดินทางที่สะดวก เพื่อที่จะแวะซื้อของฝากประจำ อำเภอหลังสวนได้อีกด้วย 

หาดคอเขา


    ตั้งอยู่ที่ตำบลนาพญา เป็นหาดทรายที่มีความสวยงามและสะอาด เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติและท้องทะเล ถัดจากชายหาดขึ้นมาจะเป็นเนินเขาที่เขียวครึ้มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์เทพนิมิต (วัดคอเขา) ทั่วอาณาบริเวณนอกจากจะสมบูรณ์ไปด้วยสภาพธรรมชาติแล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่และพระรูปเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้อีกด้วย 

ปากน้ำหลังสวน 


   ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำหลังสวน ห่างจากตัวอำเภอหลังสวนประมาณ 7 กิโลเมตร เมื่อถึงตลาดปากน้ำหลังสวนจะมีถนนตัดเลียบชายหาดไปตลอด จนถึงตำบลบางน้ำจืด ริมชายหาดมีรีสอร์ทและร้านอาหารทะเลตั้งอยู่เป็นระยะ ปากน้ำหลังสวนเป็นแหล่งร้านอาหารทะเลที่อร่อยและราคาย่อมเยา นักท่องเที่ยวสามารถพักค้างแรมและทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้หลายอย่าง

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และเรือจำลองจักรีนฤเบศร


   ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมชายหาดแหลมสน สร้างเป็นรูป เรือจำลองจักรีนฤเบศร เรือจำลองมีขนาด กว้าง 29 เมตร ยาว 79 เมตร สูง 6 เมตร สร้างจากความศรัทธาของประชาชน โดยเฉพาะคนในชุมชนปากน้ำหลังสวนได้เสียสละทั้งทรัพย์และแรงงาน ใช้งบก่อสร้างประมาณ 12 ล้านบาท ภายในเรือเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ส่วนบนดาดฟ้าเรือมีรูปปั้นของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มองเห็นทิวทัศน์ของชายทะเลปากน้ำหลังสวนได้

ถ้ำเขาเกรียบ


   ถ้ำเขาเกรียบ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงใน ตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวน บริเวณเชิงเขาเป็นวัดถ้ำเขาเกรียบ ถ้ำนี้ที่มีชื่อเสียงมากในด้านความสวยงามด้วยหินงอกหินย้อยที่ส่องประกายแวววาวล้อแสงไฟ    มีบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อสำหรับเดินขึ้นไปชมถ้ำได้อย่างสะดวก
   ภายในถ้ำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ กว้างขวาง เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยงดงามมาก พื้นถ้ำจะต่างระดับกันพอสมควรแต่ก็ไม่มากนัก สามารถเดินชมความสวยงามได้โดยสะดวกเนื่องจากทางวัดได้ต่อหลอดไฟให้ภายในถ้ำ ทำให้สามารถเดินชมได้อย่างปลอดภัย เพดานถ้ำบริเวณห้องโถงมีปล่องเปิดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 - 6 เมตร ให้แสงอาทิตย์ส่องเข้ามาภายใน ทำให้เกิดความสวยงามมาก ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ มีทางเดินถึงเชิงเขาแล้วขึ้นบันไดปูน ไปสู่ถ้ำ เดินได้สบายไม่ชันนัก ทางวัดถ้ำเขาเกรียบได้ติดตั้งไฟฟ้าภายในถ้ำช่วยให้เดินเที่ยวชม ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติได้สะดวกทั้งนี้ต้องแจ้งให้ทางวัดทราบก่อนว่าต้องการเข้าไปเที่ยวถ้ำจะได้เปิดไฟให้